โรงแรม, รีสอร์ท และที่พัก
จังหวัดเลย
จังหวัดเลยเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อนท่ามกลางสายหมอกปกคลุมเหนือยอดภู อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้นานาชนิดที่รู้จักกันดี
คือ ภูกระดึง ภูหลวงและภูเรือ อากาศอันเย็นสบาย ภูมิประเทศที่งดงาม
ประเพณีวัฒนธรรมอันแตกต่างไปจากถิ่นอื่นซึ่งได้แก่การละเล่นผีตาโขนที่รอคอยนักเดินทางมาสัมผัสเมืองแห่งขุนเขาดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้
การมาเที่ยวที่จังหวัดเลย เราสามารถที่จะไปเที่ยวได้ทั้งปี โดยฤดูหนาวจะเป็นฤดูที่มีการท่องเที่ยวคึกคักที่สุด
เพราะแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของจังหวัดเลยเป็นภูเขาสูง นักท่องเที่ยวจึงนิยมแวะเวียนมาสัมผัสไอหนาวและทะเลหมอก
ตลอดจนสีสันและความงามของไม้ดอกเมืองหนาว ที่ต่างแข่งขันกันบานตอนรับนักท่องเที่ยวในช่วงนี้
ส่วนฤดูฝนนั้นก็เหมาะกับผู้ที่ชอบชมน้ำตก เล่นน้ำ และฤดูร้อนก็เหมาะสำหรับผู้นิยมดูธรรมชาติ แก่ง หินและหาดทราย ความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในไอร้อนแห่งฤดูร้อน
- แหล่งท่องเที่ยว
- จังหวัดเลย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
- (1) แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้แก่
- * ภูเรือวโนทยาน อำเภอภูเรือ เป็นสวนองุ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่ผลิตไวน์ "ชาโต้ เดอเลย บรั่นดี" วิคตอรี่"
- * สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ ซึ่งเป็นที่ทดลองปลูกพืชเมืองหนาว
- * ตลาดนัดไม้ดอก ไม้ประดับ บ้านหนองบง อำเภอภูเรือง
- * โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ผานาง-ผาเกิ้ง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ภายในโครงการมีการทอผ้าไหม เครื่องหัตถกรรม เครื่องครัวผลิตจากไม้ไผ่และไม้สัก เป็นต้น
- (2) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้แก่
- * ถ้ำ 6 แห่ง
- * ที่ทำการศูนย์ในอุทยาน/วนอุทยาน/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ 3 แห่ง
- * ธรณีสัณฐาน/ลานหิน/เนินดิน/เสาหิน 13 แห่ง
- * น้ำตก 16 แห่ง
- * ป่าไม้ 2 แห่ง
- * ภูเขา 1 แห่ง
- * ลำน้ำ/แม่น้ำ/ลำคลอง 1 แห่ง
- * แก่งหิน/ชายตลิ่ง 1 แห่ง
- * สวนสาธารณะ 1 แห่ง
- * สวนพฤกศาตร์/สวนป่า 1 แห่ง
- * หน้าผา/ที่ชมวิว/โขดหิน 6 แห่ง
- * แหล่งน้ำธรรมชาติ/หนองน้ำ/บึง 1 แห่ง
- (3) แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โบราณวัตถุศาสนสถาน
- * โบราณสถาน/โบราณวัตถุ 3 แห่ง
- * เมืองโบราณ 2 แห่ง
- * วัด/สำนักสงฆ์/ปูชนียสถาน 7 แห่ง
- * ศูนย์วัฒนธรรม 1 แห่ง
- * สนามกีฬา 1 แห่ง
- * อนุสาวรีย์/ศาล/อนุสรณ์สถาน 2 แห่ง
- เที่ยวชมศิลปะถ้ำในเมืองเลย
- หลักฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ยังไม่สามารถคิดประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ ได้แฝงเร้นอยู่ในแถบถิ่นนี้มานับพันปี ก่อนที่นักโบราณคดีผู้มีหน้าที่สานภาพอดีตจากหลักฐานที่คงเหลืออยู่จะมาพบในปี พ.ศ. 2515 โครงการเขื่อนผามองได้เกิดขึ้น ทางภาครัฐได้มอบหมายให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติร่วมมือกับกรมศิลปากร ออกสำรวจทางโบราณคดีทั่วบริเวณที่จะถูกน้ำท่วม พื้นที่ของจังหวัดเลยก็รวมอยู่ในโครงการฯ ด้วย การสำรวจทางโบราณคดีในจังหวัดนี้ จึงได้เริ่มอย่างจริงจังนับจากนั้นเป็นต้นมา จนปัจจุบันได้พบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์มากมายหลายชิ้นด้วยกัน กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือของใช้ที่ทำจากหิน เช่น เครื่องมือหินกระเทาะ ขวานหินขัด กำไลหิน นอกจากหลักฐานที่เป็นเครื่องมือแล้ว นักโบราณคดียังได้สำรวจพบภาพเขียนสีตามถ้ำ หน้าผา เพิงผาต่างๆ หลักฐานที่พบนี้เรียกรวมๆ ว่า "ศิลปะถ้ำ"
- นับตั้งแต่พ่อลูกคู่หนึ่งเปิดเผยให้ภาพเขียนสีรูปวัวไบซัน ที่ถ้ำอัลตามิราของสเปน เมื่อปี พ.ศ. 2422 ศิลปะถ้ำก็ถูกนับเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่น้อยไปกว่าหลักฐานประเภทอื่น ศิลปะถ้ำนอกจากเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีได้ด้วย
- เลยเป็นหนึ่งใน 9 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้ค้นพบศิลปะถ้ำ ภาพเขียนที่พบมีจำนวนที่นับได้เป็นอันดับที่ 3 รองจากอุดรธานีและอุบลราชธานี ตามลำดับ
- "ศิลปะถ้ำ" ค้นพบได้ทั้งตามบริเวณผนังถ้ำ เพิงผา และก้อนหินหรือเพิงหิน ปัจจุบันเท่าที่ค้นพบแล้วในเขต 9 จังหวัดของภาคอีสาน ซึ่งได้แก่ เลย อุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ รวมทั้งสิ้น 131 แห่ง ในจำนวนนี้พบอยู่ตามก้อนหินมากที่สุดถึง 101 แห่ง พบตามหน้าผา 13 แห่ง เพิงผา 13 แห่ง และถ้ำเพียง 4 แห่ง เท่านั้น ส่วนมากพระธุดงค์และชาวบ้านไปพบเข้าโดยบังเอิญ
- ศิลปะถ้ำ มี 2 ลักษณะคือ การเขียนสีและการทำรูปรอย ซึ่งสามารถแยกวิธีย่อยๆ ออกไปได้อีกหลายแบบ เช่น การเขียนสีก็มีทั้งการวาดด้วยสีแห้ง การเขียนหรือระบาย การพ่น ส่วนการทำรูปรอยลงในหินก็มีทั้งการขูดขีด การตอก เป็นต้น ศิลปะถ้ำที่พบโดยมากในแถบอีสานหรือที่อื่นในเมืองไทยก็ตาม จะใช้เทคนิคการลงสีเป็นส่วนใหญ่ และภาพเขียนสีที่พบในเมืองไทยส่วนมากจะเขียนด้วยสีแดง เหลือง ขาว และสีดำบ้าง
- นักโบราณคดีไทยสันนิษฐานว่า ศิลปะที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในการดำรงอยู่แห่งชีวิตผู้คนในสังคม กล่าวคือ มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์คงสร้างศิลปะถ้ำสำหรับพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพสังคมความเป็นอยู่ มากกว่าเขียนขึ้นเพื่อความสวยงาม
- สำหรับถ้ำที่พบงานศิลปะโบราณในจังหวัดเลยนั้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านในพื้นที่จะเป็นผู้แจ้งผ่านไปทางจังหวัด กรมศิลปากรได้เข้าสำรวจอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 โดยเริ่มที่ถ้ำผาฆ้อง อำเภอภูกระดึง จนปัจจุบัน (พ.ศ. 2531) ค้นพบทั้งหมดรวม 10 แห่ง บางแห่ง เช่น ถ้ำผาปู่ ถ้ำมโหฬารอยู่ในสภาพลบเลือนไปมากอย่างน่าเสียดาย ส่วนที่ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ที่เด่นที่สุดน่าจะได้แก่ ถ้ำลายแทง บ้านผาสามยอด ตำบลผานกเค้า อำเภอภูกระดึง เมื่อได้มาเยือนดินแดนแถบนี้เพื่อพิชิตยอดภูกระดึงแล้ว นักท่องเที่ยวประเภทลุยไม่น่าพลาดถ้ำลายแทง
- "ห้องแสดงภาพชีวิตมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์" แห่งนี้ เพราะนอกจากจะได้ชมภาพเขียนสีที่มีขนาดใหญ่จำนวนมากกว่าที่พบในถ้ำใดๆ ในจังหวัดเลยแล้ว การเดินชมยังต้องเดินขึ้นเขาลงห้วยกันแบบพอได้เหงื่ออีกด้วย
- ตามประวัติ ชาวบ้านครอบครัวหนึ่งซึ่งอพยพเข้าไปตั้งบ้านเรือนในบริเวณเชิงเขาผานกเค้า เพื่อหาที่ทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 บังเอิญได้พบภาพเขียนเป็นรูปคนหลายคนอยู่ที่ผนังถ้ำ ก็คิดว่าภายในคงมีสมบัติซุกซ่อนอยู่ จึงเรียกถ้ำนี้ว่า "ถ้ำลายแทง" จากนั้นก็ได้มีการขุดพื้นที่ในถ้ำเพื่อหาสมบัติกันอยู่เนืองๆ กว่าทางกรมศิลปากรจะเข้ามาสำรวจในปี พ.ศ. 2526 สภาพชั้นดินภายในถ้ำก็ถูกทำลายไปหมดแล้ว เมื่อสอบถามชาวบ้านก็ทราบแต่เพียงว่าเคยมีเศษภาชนะดินเผา ถ้วยและไหดินเผา แต่ยังเป็นที่น่ายินดีอยู่บ้านที่ตัวภาพเขียนสียังรอดพ้นจากน้ำมือคนมาได้ จะมีที่เสียหายบ้างก็จากธรรมชาติ
- การเดินทางไปชมภาพเขียนสีที่ถ้ำลายแทงนั้น จะต้องออกแรงพอเหนื่อย ด้วยสภาพป่าเขาทุรกันดาร นับจากทางแยกเข้าหมู่บ้านที่ถนนสายขอนแก่น-เลย รถยนต์เข้าไปได้เพียง 3 กิโลเมตร จากนั้นต้องลงเดินเท้าเข้าไปอีกเป็นระยะทางประมาณ 5-6 กิโลเมตร ตลอดสองข้างทางเป็นแนวพงหญ้าสูงท่วมหัว นอกจากต้องเดินข้ามเขาแล้ว ยังต้องลุยข้ามแม่น้ำพองอีก เป็นการเพิ่มรสชาติให้ควรแก่ความทรงจำยิ่งขึ้น
- เมื่อถึงเชิงเขาหินปูนใกล้กับผาสามยอด เทือกเขาเดียวกับผานกเค้า ตัวถ้ำอยู่สูงจากเชิงเขาขึ้นไปอีก 40 เมตร ปากถ้ำกว้าง 10 เมตร มี 2 คูหาเรียงกัน ในคูหาแรกไม่มีภาพเขียนสี เดินต่อไปยังคูหาที่ 2 จึงจะพบ จากหน้าถ้ำซึ่งสูง 5 เมตร ปากถ้ำมีเหวลึกลงไปอีกราว 7 เมตร ภาพเขียนสีอายุนับพันปีรอผู้มาเยือนอยู่ที่ผนังสูงจากพื้นราว 2 เมตร นับโบราณคดีกล่าวว่า การเลือกเขียนภาพตามบริเวณปากถ้ำเช่นนี้ เป็นลักษณะที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ ตามบริเวณเพิงหิน เพิงผาในแหล่งอื่นก็เช่นกัน การที่ศิลปินโบราณไม่นิยมเขียนภาพไว้ในส่วนลึกที่มืดทึบของถ้ำ ช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าสถานที่เหล่านี้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมหรือทำกิจกรรมร่วมกัน จึงไม่จำเป็นต้องซ่อนเร้นแต่อย่างใด
- รูปภาพของศิลปินโบราณกินพื้นที่ของผนังถ้ำกว่า 9 เมตร เขียนด้วยสีแดงคล้ายน้ำหมากและสีแดงปนส้ม รวม 74 ภาพ แบ่งเป็นภาพคน 40 ภาพ ภาพสัตว์ 14 ภาพ ภาพมือคน 8 ภาพ ภาพสัญลักษณ์ 12 ภาพ มากที่สุดในบรรดาศิลปะถ้ำที่มีอยู่ในจังหวัดเลย แม้พื้นที่ของภาพจะไม่มากเท่าแหล่งใหญ่ๆ อย่าผาแต้ม หรือเขาจันทน์งาม (จังหวัดนครราชสีมา) แต่ก็มีความโดดเด่นและสำคัญไม่ด้อยกว่ากันเลย ด้วยปริมาณความหนาแน่นของภาพ สาระและเรื่องราวที่ปรากฏ ลักษณะเด่นอยู่ที่เป็นภาพคน ส่วนใหญ่แสดงอิริยาบถต่างๆ ซึ่งพบไม่มากในที่อื่นๆ และภาพมือที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่มีเทคนิคการทำภาพเหมือนกับภาพที่พบแถบริมฝั่งแม่น้ำโขงช่วงจังหวัดอุบลราชธานีและมุกดาหาร ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่พัฒนามาจากขั้นพื้นฐานธรรมดา (พ่น, ทาบ) คือ การทำภาพโดยทาสีที่มือ แล้วขูดสีบางส่วนออกจากนิ้วมือและอุ้งมือ และทาบลงบนผนังหิน
- นักโบราณคดีสันนิษฐานจากภาพที่บอกเล่าเรื่องราวการล่าสัตว์ โดยมีหมาเข้าช่วยว่า กลุ่มชนที่เขียนภาพนี้เป็นกลุ่มที่ตั้งชุมชนอยู่บนพื้นราบ มีกฏและระเบียบทางสังคมร่วมกัน รู้จักเลี้ยงสัตว์ (ภาพหมา) ทั้งยังมีการติดต่อสัมพันธ์กับคนแถบริมฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันออกของภาคนี้อีกด้วย (ภาพมือ)
-> กลับขึ้นด้านบน
- สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอำเภอเมืองเลย
- ศาลเจ้าพ่อกุดป่องและศาลหลักเมือง
- ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ริมแม่นำกุดป่อง ห่างจากวงเวียนประมาณ 100 เมตร ติดกับสวนสาธารณกุดป่อง เป็นศาลเก่าแก่ที่ประชาชนเคารพนับถือมากเพราะเชื่อกันว่า เป็นส่วนหนึ่งในตำนานการเกิดเมืองเลย และเป็นที่สถิตดวงวิญญาณเจ้าพ่อทองคำองค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ราชพฤกษ์ ความสูงจากฐานถึงยอด 179 เซนติเมตร ยอดเสาแกะสลักลงรักปิดทองทั้งองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมศาลเมื่อ พ.ศ. 2525 มีประชาชนเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก
- สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา พระบรมราชินีนาถ หรือสวนสาธารณะป่าเลิงใหญ่
- ตั้งอยู่ตรงข้ามเทศบาลเมืองเมือง เป็นสวนสาธารณะที่มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีสวนดอกไม้ประดับเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย พื้นที่ของสวนติดกับแม่นำเลย นักท่องเที่ยวสามารถเดินผ่านข้ามสะพานแขวนเข้าไปเที่ยวชมได้ได้อย่างสะดวก
- สวนสาธารณะกุดป่อง
- อยู่ด้านหลังศาลเจ้าพ่อกุดป่อง มีคูน้ำล้อมรอบ ภายในสวนสาธารณะตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ อย่างสวยงาม ดูร่มรื่น ใช้เป็นที่พักผ่อนและออกกำลังกาย
- ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย
- ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏเลย เป็นอาคาร 2 ชั้น รวบรวมและเผยแพร่เรื่องราวทางด้านศาสนา ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวเลยในหลาย ๆ ด้าน ภายในตัวอาคารศูนย์วัฒนธรรมมีการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
- ส่วนแรก ห้องประชุมและฉายสไลด์เกี่ยวกับเมืองเลยและแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในอดีต
- ส่วนที่สอง ห้องนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงเกี่ยวกับพระพุทธรูปเก่าที่ทำมาจากไม้ หินทราย ดินเผาและเงิน หน้ากากผีตาโขน ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ซึ่งของทั้งหมดได้มาจากชาวบ้านในท้องถิ่นเมืองเลย นอกจากนี้ยังมีส่วนนิทรรศการหมุนเวียนทุก 3 เดือนโดยจัดแสดงเรื่องราวต่างๆของเมืองเลยตามเทศกาลประเพณี
- ส่วนที่สาม มีห้อง "เบิ่งไทเลย" เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรถือเป็นส่วนสำคัญและจัดแสดงได้โดดเด่นที่สุดภายในห้องขนาดใหญ่นี้จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดเลย เนื้อหาของนิทรรศการครอบคลุมในทุกด้านทั้งธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ประเพณีและกลุ่มชาติพันธุ์ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. ถ้าต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการเข้าชม ติดต่อที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย สถาบันราชภัฎเลย ถนนเลย-เชียงคาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย 42000 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.0 4283 5223-8 ต่อ 1132
- อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมานตอนบนและห้วยกระทิง
- เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีบริเวณที่สวยงาม มีการบริการเรือหางยาวนำชมทิวทัศน์รอบอ่าง และเรือแพไม้ไผ่สำหรับพักผ่อนกลางอ่างมีแพนั่งกลางอ่างเก็บน้ำ หลายกลุ่ม อยู่เส้นทาง ถนนเลย ด่านซ้าย ออกจากตัวเมืองเลย ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางเลี้ยวขวา เข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะพบกับร้านบริการ จนถึงหมู่บ้าน
- วัดถ้ำผาปู่
- ภายในมีพระธาตุอัฐิของ หลวงปู่คำดี ปภาโส ผู้ค้นพบถ้ำผาปู่แห่งนี้ ถ้ำผาปู่หรือถ้ำเพียงดินที่ชาวบ้านเรียกกัน มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่อยู่ใต้ภูเขาหินมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำและมีหินงอกหินย้อยแปลกตา บริเวณภายนอกถ้ำมีต้นไม้ร่มรื่น เป็นแหล่งอาศัยของค้างแว่นถิ่นเหนือ ชะนี ลิง
- อนุสรณ์สถาน พตท.1718
- ใช้เส้นทาง เลย-วังสะพุง ออกจากตัวเมืองไปเล็กน้อย จะอยู่ติดกับถนนมะลิวัลย์ ทางด้านขวามือ ขี่ออกจากตัวเมืองเลย อนุสรณ์สถาน พตท.1718 เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความร่วมมือและความเสียสละร่วมกันของพลเรือน ตำรวจ และทหารตลอดจนพี่น้องอาสาสมัคร และประชาชน ที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาเมืองเลย
-> กลับขึ้นด้านบน
- สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอำเภอเชียงคาน
- วัดศรีคุณเมือง
- อยู่ที่ถนนชายโขง ซอย 7 ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน สร้างมาแต่เมื่อครั้งใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากจารึกอักษรธรรมลาวที่ฐานพระพุทธรูปในวัดศรีคุณเมือง 2 องค์ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2377 และยังมีหลักฐานหินชนวนที่ผนังข้างประตูโบสถ์ระบุว่า พระครูบุดดี อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีคุณเมือง กับศิษย์และฆราวาสผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันสร้างวัดแห่งนี้แต่เริ่มแรก และต่อมา พระอนุพินาศ เจ้าเมืองปากเหืองหรือเมืองเชียงคานในเวลาต่อมา พร้อมด้วยนางกวยหรือกล้วย ผู้เป็นภริยา บุตรธิดาและหมื่นทั้งหลาย ได้ร่วมกันสร้างโบสถ์ วิหาร และพระพุทธรูปไว้ให้แก่วัดศรีคุณเมือง
- วัดนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้างดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ซึ่งหลังคาลดหลั่นอย่างศิลปะล้านนา ศิลปวัตถุที่สำคัญมีหลายชิ้น เช่นพระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยแบบล้านช้าง พระพุทธรูปดังกล่าวมีพระเกศาเป็นปุ่มแหลมเล็ก พระกรรณค่อนข้างแหลมและยาว สันนิษฐานว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 นอกจากนี้ในวัดยังมีธรรมาสน์แกะสลักไม้ลงรักปิดทองทุกด้านที่พนักหลังมียอดคล้ายปราสาท ขาทั้งสี่เป็นหัวเม็ดทรงมัน นอกจากนี้ยังมีฮางฮด (คือรางรด) ซึ่งจะพบเห็นได้ทางภาคเหนือเช่นกัน แต่ปัจจุบันหาชมได้ยากแล้ว ฮางฮดทำเป็นรูปคล้ายเรือสุพรรณหงส์ เป็นลำรางขนาดเล็กและยาวสำหรับนำร่องน้ำไปสรงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ที่ปลายอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านจะนำฮางฮดมาใช้เฉพาะกับพระผู้ใหญ่ที่เลื่อมใส ส่วนมากมักเป็นพระที่มีสมณศักดิ์สูง หรือบางครั้งก็ใช้กับเจ้าเมือง ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติซึ่งวาดขึ้นใหม่แทนของเดิม
- วัดท่าแขก
- วัดท่าแขกเป็นวัดเก่าแก่โบราณตั้งอยู่ริมฝั่งโขง ในเขตอำเภอเชียงคาน มีประวัติเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์เมืองเชียงคาน เชื่อว่าวัดท่าแขกสร้างในปี พ.ศ. 1905 ตรงกับสมัยขุนคานสร้างเมืองเชียงคาน พร้อมกับวัดศพที่เมืองสานะคาม (เมืองเชียงคานเดิม) ทางฝั่งลาวซึ่งอยู่ตรงข้ามนั่นเอง แต่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในปี พ.ศ. 2020 ตรงกับสมัยพระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ เพราะมีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งเกิดศึกญวน พระเจ้าชัยจักรพรรดิแผ่นแผ้วกับข้าราชบริพารกลุ่มหนึ่ง หลบศึกสงครามมาตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งลำน้ำโขงบริเวณวัดศพ พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์รัชกาลต่อมา ได้สร้างพระยืนขึ้นที่วัดศพ โดยสกัดจากหินที่ผาฮด และได้สร้าง "วัดท่าแขก" พร้อมกันไปด้วย โดยวัดศพนั้นให้ฝ่ายหญิงได้ร่วมกันสร้าง ส่วนวัดท่าแขกให้ฝ่ายชายร่วมมือกันสร้าง ในที่สุดฝ่ายหญิงสามารถสร้างวัดศพได้เสร็จก่อน แถมพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในวัดยังองค์ใหญ่โตและสวยงามกว่า เพราะตั้งใจสร้างทั้งกลางวันกลางคืนฝ่ายนั้นไม่ทำงานแต่กลับไปเฝ้าเกี้ยวพาราสีหญิงสาวจึงสู้ไม่ได้
- พระพุทธรูปวัดท่าแขกเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สกัดจากหินทั้งก้อน หน้าตักกว้างประมาณ 2 ศอกเศษ มีอายุประมาณ 300 กว่าปี ปัจจุบันได้มีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ แต่รักษารูปแบบสถาปัตยกรรมแบบลาวหรือล้านช้างอย่างของเดิมไว้
- วัดท่าแขกห่างจากอำเภอเชียงคานประมาณ 2 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางเชียงคาน-ปากชม จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ถึงก่อนทางเข้าแก่งคุดคู้
- พระพุทธบาทภูควายเงิน
- อยู่ที่บ้านอุมุง ตำบลบุฮม การเดินทาง ใช้เส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านผาแบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กิโลเมตร จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลูกรังระยะทาง 1 กิโลเมตร พระพุทธบาทภูควายเงินเป็นรอยพระพุทธบาทยาวประมาณ 120 เซนติเมตร กว้าง 65 เซนติเมตร ประดิษฐานบนหินพร้า(หินลับมีด) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ. 2478 รอยพระพุทธบาทภูควายเงินเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในแถบนี้มาก สมัยก่อนครั้งที่การเดินทางมานมัสการยังลำบาก เชื่อกันว่าคนที่มีบุญวาสนาเท่านั้นจึงจะเดินทางมากราบไหว้ได้ คนที่วาสนาไม่ถึงจะต้องมีเหตุให้มาไม่ได้ ทั้งที่ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่ก็ตาม บางคนก็หลงทาง ทุกปีในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 3 หรือเดือน 4 ทางวัดจะจัดงานสมโภชประจำปีถือเป็นงานสำคัญของชาวบ้านในแถบนี้
- แก่งคุดคู้
- เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ในช่วงโค้งของลำน้ำโขงพอดี ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านแก่ง ในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมจนมองไม่เห็นแก่ง เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้คือเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้งมองเห็นเกาะแก่งชัดเจนมีโค้งสันทรายริมแม่น้ำ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสสายน้ำโขงและธรรมชาติสองฝั่งอย่างใกล้ชิด ท่าเรือบริเวณลานจอดรถมีบริการเช่าเรือยนต์ล่องแม่น้ำโขงโดยใช้เวลาไป-กลับประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีร้านขายอาหารเช่นไก่ย่าง ส้มตำ ลาบ โดยเฉพาะพล่า กุ้งเต้น ต้มยำปลาจากลำน้ำโขงเป็นอาหารแนะนำในราคาไม่แพง การเดินทางจากตัวอำเภอเชียงคานนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถสายรอบเมืองไปแก่งคุดคู้ได้ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร
- ภูทอก
- ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นสถานีทวนสัญญาณเขา 483 และเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบนภูเขา เพื่อชมทิวทัศน์ ระยะห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 5 กิโลเมตร
- ตารางแสดงลักษณะเด่นของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอเชียงคาน